5 บุคคลที่ไม่มีสิทธิเรี่ยไร

          เป็นระยะเวลากว่า 74 ปี แล้ว ที่พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดห้ามบุคคล 5 ประเภท ไม่ให้ทำการเรี่ยไร หรือจัดให้มีการเรี่ยไร ดังนี้ 

          1. บุคคลมีอายุต่ำกว่า 16 ปี แต่เดิมกฎหมายเก่า ฉบับพุทธศักราช 2480 กำหนดห้าม "ผู้เยาว์" ทำการเรี่ยไร ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จาก "ผู้เยาว์" เป็น "บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี" ซึ่งใช้เกณฑ์อายุเป็นสำคัญ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ ถือเป็นการแก้ไขผ่อนปรนและรับรองสิทธิของผู้เยาว์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในปัจจุบันผู้เยาว์ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี จึงมีสิทธิทำการเรี่ยไรหรือจัดให้มีการเรี่ยไรได้ 

          2. บุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ เดิมหลักเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับพุทธศักราช 2480 กำหนดเฉพาะบุคคลผู้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถเท่านั้นที่จะสิ้นสิทธิในการเรี่ยไร โดยพิจารณาจากผลทางกฎหมายหรือสถานะของบุคคลตามกฎหมายเป็นสำคัญ ต่อมากฎหมายฉบับปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เดิม โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ "ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ" ก็ถูกจำกัดสิทธิที่จะเรี่ยไร ซึ่งเป็นการคำนึงถึงข้อเท็จจริงจากความสามารถของบุคคลเป็นสำคัญ
          หลักเกณฑ์ตามข้อนี้ เป็นการกำหนดตัวบุคคลไว้ 3 ประเภท ที่ห้ามทำการเรี่ยไร หรือจัดให้มีการเรี่ยไร คือ
          (1) ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ตามกฎหมายไม่ปรากฏบทนิยามหรือความหมายของคำว่า "จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ" แต่อย่างใด นอกจากนี้ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็ไม่ได้กำหนดคำนิยามไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้อยคำดังกล่าว ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 ว่าบุคคลที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว อาจถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 33 และมาตรา 28 สามารถอธิบายความหมายของบุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบได้ กล่าวคือ ผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องไม่ถึงขนาดวิกลจริต เนื่องจากผู้ที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ อาจตกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่บุคคลที่มีสภาพวิกลจริตอาจตกเป็นคนไร้ความสามารถ มิใช่คนเสมือนไร้ความสามารถ
          (2) ผู้ไร้ความสามารถ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายคำว่า วิกลจริต หมายถึง "มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติเพราะสติวิปลาส เช่น เขาเป็นคนวิกลจริต ร้องไห้บ้างหัวเราะบ้างโดยไม่มีสาเหตุ, เป็นบ้า" ดังนั้น บุคคลวิกลจริตดังกล่าวเมื่อถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วย่อมสิ้นสิทธิที่จะทำการเรี่ยไรตามหลักเกณฑ์ในมาตรานี้
          (3) คนเสมือนไร้ความสามารถ คือ บุคคลที่ไม่สามารถจัดการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เพราะกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

          3. บุคคลเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ หลักเกณฑ์ในข้อนี้เป็นหลักเกณฑ์เดิมตามกฎหมายฉบับพุทธศักราช 2480 มิได้หมายถึงโรคติดต่อหรือโรคที่สังคมรังเกียจอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงจะต้องเป็นโรคติิดต่อที่น่ารังเกียจหรือที่สังคมรังเกียจด้วย โดยมิได้มีการกำหนดความหมายของโรคติดต่อที่น่ารังเกียจไว้ชัดเจน ในเบื้องต้นอาจพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้จำแนกประเภทของโรคติดต่อหลักไว้ 3 ประเภท คือ
          (1) โรคติดต่อ หมายความว่า โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน
          (2) โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้คนได้อย่างรวดเร็ว 
          (3) โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังไว้ หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
          จากการจำแนกประเภทของโรคติดต่อทั้ง 3 ประเภท ดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏความหมายของ โรคติดต่อที่น่ารังเกียจ อีกทั้งตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (1) ก็ปรากฏว่ามีการใช้ถ้อยคำแยกจากกันชัดเจน ระหว่าง "โรคติดต่อ" กับ "โรคที่สังคมรังเกียจ" แต่ก็มิได้มีการให้ความหมายไว้แต่อย่างใด เป็นเพียงการกำหนดหลักเกณฑ์สุขอนามัยของผู้ขายของและผู้ช่วยขายของในตลาดเท่านั้น นอกจากนี้มีความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานสุขาภิบาลอาหาร ว่า HIV/AIDS ไม่ใช่โรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ 
          ในประเด็นนี้จึงน่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยควบคุมการเรี่ยไร โดยอาจกำหนดให้ห้ามบุคคลที่เป็น "โรคติดต่อร้ายแรง" ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดำเนินการเรี่ยไร แทนคำว่า "โรคติดต่อที่น่ารังเกียจ" เพื่อหลีกเลี่ยงการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ห้ามทำการเร่ี่ยไร

          4. บุคคลผู้เคยต้องโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบ 5 ปี โดยได้กำหนดไว้ 10 ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ได้แก่
          (1) ลักทรัพย์ 
          (2) วิ่งราวทรัพย์ 
          (3) ชิงทรัพย์ 
          (4) ปล้นทรัพย์ 
          (5) โจรสลัด 
          (6) กรรโชก 
          (7) ฉ้อโกง 
          (8) ยักยอกทรัพย์ 
          (9) รับของโจร 
          (10) ทุจริตต่อหน้าที่

          5. บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ
เป็นการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ
(Discretionary Power) ในการพิจารณาคำขออนุญาตทำการเรี่ยไร

#นักเรียนกฎหมาย 
21 กรกฎาคม 2561


ที่มา
          1. พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a416/%a416-20-2487-001.pdf
          2. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 
http://law.ddc.moph.go.th/file/lawgcd/001.1.pdf
          3. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a136/%a136-20-9999-update.pdf
          4. กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a136/%a136-2b-2551-a0001.pdf
          5. ความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานสุขาภิบาลอาหาร 
http://foodsan.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=527&filename=article
          6. เว็บไซต์ การควบคุมการเรี่ยไร กรมการปกครอง 
https://multi.dopa.go.th/omd2/laws/cate5

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566