9 สิทธิ ที่ควรรู้ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ

ปัจจุบันพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 บังคับใช้มากว่า 20 ปี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 (เล่ม 114 ตอนที่ 46 ก) ในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีผลใช้บังคับในวันที่ 9 ธันวาคม 2540 สมัยนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ
1. รับรองสิทธิได้รู้ หรือได้รับทราบของประชาชน (Right to Know) ภายใต้หลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”
2. คุ้มครองข้อมูลข่าวสารสำคัญ ภายใต้หลักการ “ความจำเป็นในการคุ้มครอง” และไม่ให้มีการละเมิดซึ่งจะกระทบต่อสิทธิผลประโยชน์ส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว (Privacy) คือ
  (1) คุ้มครองความลับของทางราชการ โดยมีระเบียบกำหนดไว้แน่ชัดว่าข้อมูลข่าวสารใดจะกำหนดชั้นความลับได้บ้าง
  (2) คุ้มครองประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน เช่น ความลับทางการค้าสูตรผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิต
  (3) คุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ภายใต้หลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”
 

กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดสิทธิที่สำคัญ 9 ข้อ ที่ประชาชนควรรู้ ได้แก่ 
  1. สิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เป็นไปตามมาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา อย่างน้อยต่อไปนี้
  (1) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
  (2) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
  (3) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
  (4) กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบาย หรือการตีความ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
  (5) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
  สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ได้มีการจัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว ถ้ามีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาโดยอ้างอิงถึงสิ่งพิมพ์นั้นก็ได้
  ให้หน่วยงานของรัฐรวบรวมและจัดให้มีข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไว้เผยแพร่เพื่อขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นตามที่เห็นสมควร

  2. สิทธิเข้าตรวจดู เป็นไปตามมาตรา 9 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยต่อไปนี้ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้
  (1) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
  (2) นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7 (4)
  (3) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
  (4) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
  (5) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงตามมาตรา 7 วรรคสอง
  (6) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
  (7) มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
  (8) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
  อย่างไรก็ตาม ถ้าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 อยู่ด้วย ให้ลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนนั้น

  3. สิทธิขอดู ตามมาตรา 11 มีสิทธิขอข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ของราชการโดยระบุข้อมูลในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบมีหน้าที่จัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือเป็นข้อมูลที่ต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก รวบรวม หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่ากรณีที่ขอนั้นมิใช่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพสำหรับผู้นั้นหรือเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หน่วยงานของรัฐจะจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ก็ได้
  สำหรับข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจบุบสลายง่าย หน่วยงานของรัฐจะขอขยายเวลาในการจัดหาให้หรือจะจัดทำสำเนาให้ในสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้

  4. สิทธิได้รับสำเนาและขอให้รับรองสำเนาถูกต้อง ตามมาตรา 9 และมาตรา 11 

  5. สิทธิคัดค้านการเปิดเผย ตามมาตรา 17 เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใด เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงแจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 15 วันนับ โดยจะต้องใช้สิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ

  6. สิทธิร้องเรียน ตามมาตรา 13 เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา 9 หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตนตามมาตรา 11 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.)


  7. สิทธิอุทธรณ์ ตามมาตรา 18 และมาตรา 25 วรรคสี่
ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสียตามมาตรา 17 ผู้นั้นอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) หรือในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ กวฉ. ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสาร โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อ กขร.

  8. สิทธิได้รู้และแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ตามมาตรา 25 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน เมื่อมีคำขอเป็นหนังสือแล้ว หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นมีหน้าที่ต้องให้บุคคลนั้นตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น และถ้าเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ก็มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้น

  9. สิทธิดำเนินการแทน ตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 โดยกำหนดบุคคลที่มีสิทธิดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ดังนี้
  (1) ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นผู้เยาว์ ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิดำเนินการแทนตามมาตรา 25 วรรคห้า แต่ถ้าผู้เยาว์มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เยาว์ด้วย
  (2) ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นคนไร้ความสามารถ ให้ผู้อนุบาลมีสิทธิดำเนินการแทนตามมาตรา 25 วรรคห้า
  (3) ถ้าเจ้าของข้อมูลเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถทำการตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีเหตุอื่นทำนองเดียวกัน ให้ผู้พิทักษ์มีสิทธิดำเนินการแทนตามมาตรา 25 วรรคห้า
  (4) ถ้าเจ้าของข้อมูลถึงแก่กรรม และมิได้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิดำเนินการแทนตามมาตรา 24 ได้ตามลำดับก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
    (4.1) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม
    (4.2) คู่สมรส
    (4.3) บิดาหรือมารดา
    (4.4) ผู้สืบสันดาน
    (4.5) พี่น้องร่วมบิดามารดา
    (4.6) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

จะเห็นได้ว่ากฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนอย่างเรา เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับรู้ รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารในครอบครองของทางราชการอย่างกว้างขวาง และให้ความคุ้มครองประโยชน์ได้เสียของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดขึ้น  

ที่มา : 

#นักเรียนกฎหมาย
30 กรกฎาคม 2561

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)