ปล่อยปละละเลยสัตว์ดุสัตว์ร้าย

          สัตว์ดุร้าย เป็นคำที่คุ้นเคยกันมานาน ซึ่งใช้กล่าวเรียกรวมๆ ถึงสัตว์ที่มีความดุร้ายและเป็นอันตราย สำหรับมุมมองทางด้านกฎหมายแล้วจะแยกออกเป็น 2 จำพวก คือ "สัตว์ดุ" และ "สัตว์ร้าย" มีความหมายแตกต่างกัน โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาอธิบายความหมายของสัตว์ดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการตัดสินคดีอาญา ฐานปล่อยปละละเลยสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ตามมาตรา 377 แห่งประมวลกฎหมายอาญา 


          บทบัญญัติในมาตรา 377 ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ที่ปล่อยปละละเลยให้สัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายเที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามลำพังไม่ควบคุมดูแลให้ดี โดยอาจทำอันตรายแก่บุคคลหรืออาจทำให้ทรัพย์เสียหาย ต้องระวางโทษตามที่กำหนด โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้วินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
          1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2505 ได้ให้ความหมายของสัตว์ 2 จำพวก ดังนี้
          "สัตว์ดุ" หมายความว่า โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองมิใช่สัตว์ร้าย แต่อาจเป็นสัตว์ดุซึ่งเจ้าของจะต้องมีการควบคุมดูแลเป็นพิเศษ ผิดจากปกติธรรมดา โดยล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ เช่น สุนัข เป็นต้น
          "สัตว์ร้าย" หมายความว่า โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเองเป็นสัตว์ที่มีนิสัยทั้งดุและร้ายกาจเป็นปกติอยู่ในตัว และเป็นสัตว์ที่เป็นภยันตรายอันน่าสะพรึงกลัวต่อบุคคลผู้ได้พบเห็น เช่น เสือ จระเข้ หรืองูพิษ เป็นต้น
          2. คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 162/2523 วินิจฉัยว่า สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็อาจเป็นสัตว์ที่ดุได้โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเอง ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป เฉพาะคดีนี้ ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าสุนัขของจำเลยเคยกัดเป็ดของผู้เสียหายมาก่อนแล้วหลายครั้ง และครั้งที่เกิดเหตุนี้สุนัขของจำเลยไปกัดเป็ดของผู้เสียหายตายและบาดเจ็บหลายสิบตัว ถือได้ว่าเป็นสัตว์ดุตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377
           ดังนั้น ตามหลักกฎหมายอาญา มาตรา 377 และคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น จึงสรุปได้ว่า การพิจารณาสัตว์ดุจะต้องพิจารณาพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป อย่างไรก็ตามทั้งสัตว์ดุและสัตว์ร้าย เจ้าของจะต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษ โดยล่ามโซ่หรือขังกรงไว้ หากปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแล ทำให้สัตว์นั้นหลุดพ้นจากการควบคุม และอาจทำอันตรายแก่บุคคลอื่นหรืออาจทำให้ทรัพย์เสียหาย จะต้องรับผิดตามมาตรา 377 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


#นักเรียนกฎหมาย
4 สิงหาคม 2561


อ้างอิง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)